BreakingNews

ผ่านวันรัฐธรรมนูญ กับอนาคตกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย!!!

      วันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมาถือว่าเป็นวันรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย ในการรำลึกถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นวันแรกที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและใช้ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475”

           แม้ว่า 2 ปีมานี้วันรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐ รวมถึงประชาชนมากนัก เพราะวันนี้คนไทยอาจจะชาชินกับการที่กฎหมายสูงสุดของประเทศร่าง ประกาศใช้ ฉีก ร่างใหม่กันมาหลายรอบก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็ยังมีความสำคัญกับประชาชนทุกคนในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศอยู่ดี
           ย้อนกลับไปมองในเชิงสถิติประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. 2559 ที่เพิ่งผ่านการลงประชามติของประชาชนไปนั้นหากประกาศใช้ก็จะถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศ

           น่าสนใจว่าในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของไทยทั้ง 19 ฉบับ มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ซึ่งร่างโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) จากประชาชน ในขณะที่รัฐธรรมนูญอีก 17 ฉบับที่ประเทศไทยเคยประกาศใช้กันมานั้นล้วนแต่ร่างโดยคณะผู้ก่อการยึดอำนาจหรือได้รับมอบหมายโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนทั้งสิ้น
           ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญในอดีตของไทยตั้งแต่ฉบับปี 2550 ย้อนกลับไปจนถึงปี 2490 ทุกฉบับล้วนถูกยกเลิกจากการรัฐประหารทั้งสิ้น!!!
โดยรัฐธรรมนูญของไทยที่มีการบังคับใช้นานที่สุดก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2521 ใช้เป็นเวลา 12 ปี 2 เดือน 1 วัน รองลงมาก็คือรัฐธรรมนูญปี 2502 ใช้นาน 9 ปี 4 เดือน 23 วัน และรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้นาน 8 ปี 22 วัน ส่วนรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดคือ รัฐธรรมนูญปี 2511 ใช้เวลาร่างนานถึง 9 ปี 16 วัน แต่ก็ใช้บังคับเพียง 3 ปี 8 เดือน 25 วันเท่านั้น

           มาถึงปัจจุบันร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. ปี 2559 ซึ่งเพิ่งผ่านการลงประชามติไปเมื่อไม่กี่เดือน และอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาในแง่ของการใช้งบประมาณในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้พบว่าใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งในการดำเนินการร่าง เงินเดือนคณะกรรมการร่างฯ เบี้ยประชุม การพิมพ์ร่างแจกจ่ายประชาชน และการลงประชามติ

           นอกจากในส่วนของงบประมาณแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีเนื้อหาที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น นั่นคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีการเขียนระบุลงไปในตัวรัฐธรรมนูญด้วย รวมถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ยังออกมาระบุเน้นย้ำว่ารัฐบาลต่อไปจะต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีดังกล่าวด้วย
          หากย้อนไปมองสถิติของรัฐธรรมนูญไทยแล้ว น่าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 หลังจากประกาศใช้แล้วจะได้บังคับใช้ต่อไปนานแค่ไหน??? อย่าลืมว่าประเทศไทยนั้นใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมาก และรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับได้ยาวนานที่สุดก็ใช้ได้เพียง 12 ปี 2 เดือนกับอีก 1 วันเท่านั้น และในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ยังไม่มีรัฐธรรมนูญของไทยที่ใช้งานได้เกิน 10 ปีแม้แต่ฉบับเดียว

           หากวิเคราะห์จากสถิติการรัฐประหารในไทย รวมถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญคสช. 2559 และแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีแล้ว คงต้องยอมรับความจริงว่าการรัฐประหารในปี 2557 ไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญคสช. 2559 ก็คงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย ฉบับถาวรของไทยเช่นกัน!!!




Credit
http://www.ispacethailand.org/

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.